รศ.ดร.ศิริเดช ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น
แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้าน การบูรณาการระบบ เพื่องานหุ่นยนต์ ฯ สจล.
ผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช บุญแสง และคณะ
ได้รับรางวัลพระราชทาน นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2562
จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช บุญแสง และคณะ จากวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 ผลงานเรื่อง “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐาน ด้านการบูรณาการระบบ (System Integration) เพื่องานหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม4.0 (CiRACORE)" จากโครงการจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทค โนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล. กล่าวถึงแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการ บูรณาการระบบ เพื่องานหุ่นยนต์ฯ ว่า เป็นการพัฒนาคอร์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานที่มี ชื่อว่า "CiRACORE" ภายใต้ระบบปฏิบัติการ ROS เพื่องานหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีนี้มุ่งเน้นการเป็นแพลต ฟอร์มกลาง ที่ลดข้อจำกัดในการเชื่อมโยงและติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานร่วมกับระบบอัตโนมัติสมัยใหม่ที่มีความหลากหลาย ระบบมีการพัฒนาทั้งด้านฮาร์ดแวร์ที่เป็นหุ่นยนต์แขนกลที่มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศหลายเท่า และด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งมีส่วนของดีฟ เลิร์นนิ่ง ที่ใช้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ในการจัดการปัญหาได้เองโดยไม่ต้องโปรแกรม เน้นการใช้งานง่าย ช่วยให้เอสเอ็มอีรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ในราคาประหยัดและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย
ปัจจุบันมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หน่วยงานต่าง ๆ แล้วทั้งในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และภาคสังคม เช่น การตรวจจับชนิดและเพศของยุง เพื่อศึกษาการแพร่ระบาด และได้มีการนำไปใช้ในการเรียนการสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงอุดมศึกษาให้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี
การสร้างงานหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ก็เพื่อลดปัญหาจากการซื้อหุ่นยนต์จากต่างประเทศ ที่นอกจากจะราคาสูงแล้ว ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ควบคุมหุ่นยนต์อีกด้วย จึงคิดพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้เอง ใช้ซอฟต์แวร์ง่าย ๆ ในการบังคับ ซึ่งทีมงาน พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ในการคอนโทรลหุ่นยนต์ โดยให้เอไอตัดสินใจได้เอง
ทั้งนี้ ตัวต้นแบบหุ่นยนต์เริ่มต้นทำมาจากไม้ไอติมติดมอเตอร์ ใช้ Arduino สั่งการแบบง่าย สองปีที่ผ่านมาพัฒนาต่อยอดมาจนเป็นเวอร์ชั่น 3 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้แล้ว
ปัจจุบันชุดหุ่นยนต์แขนกลที่พัฒนาขึ้นพร้อมซอฟต์แวร์การใช้งานที่ง่ายและสะดวกนี้ได้มีผู้สนใจและจะนำไปใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาในระดับอาชีวะทั่วประเทศ
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial/videos/458022975130899/