The Disruptor เมืองไทย

The Disruptor เมืองไทย 
พี่เอ้ 'สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์' 
อธิการบดี สจล.

The Disruptor เมืองไทย 'สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์' ถ้าสามารถเป็น Role Model ในบางจุดให้เด็กรุ่นใหม่ได้ นั่นคืองานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต หลายคนยอมรับว่าเคยอ่านเรื่องราวของ เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บางเรื่องสร้างความทึ่ง บางเรื่องสร้างความสงสัย ทั้งในอดีต และปัจจุบัน บางเรื่องที่ทำผ่านการวางแผนที่มี เป้าหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บางเรื่องเกิดจากความมุ่งมั่น แม้ว่าจะพลาด ไปบ้าง ก็พร้อมเริ่มต้นเรื่องราวใหม่ๆ เสมอ
อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้คนๆ หนึ่ง มีพละกำลังในการทำอะไรมากมาย และเขามีเบ้าหลอมในการเติบใหญ่มาได้อย่างไร วันนี้ 'จุดประกาย' มีโอกาสได้สนทนา และค้นหาตัวตนของเขา ผู้ที่ออกแบบรถไฟใต้ดินสายแรกของประเทศไทยได้ตั้งแต่อายุ 20 และอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะแล้วเสร็จ
ในวัย 38 ปี เขาได้ตำแหน่งศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ (MIT : Massachusetts Institute of Technology) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก แถมยังเป็นอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดก็ว่าได้ จับมือกับคาร์เนกี เมลลอน มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเอไอ ตั้งสถาบันร่วมระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในอาเซียนที่สร้างนักวิจัยระดับโลก โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำจากเทคโนโลยีของ 'คาร์เนกี เมลลอน'
เจ้าของฉายา 'THe Disruptor' เมืองไทย ที่เจ้าตัวบอกว่า ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือ เขาต้องการเป็น Role Model ให้คนรุ่นใหม่ในทุกๆ เรื่องที่ทำได้ ที่สำคัญต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ในระยะยาว
- อยากให้เล่าถึงที่มาของฉายา The Disruptor เมืองไทยสักนิด?
ผมไม่รู้ที่มาที่ไป แต่หลายคนพูดจนติดปากว่า เป็นนักเปลี่ยนแปลง ที่กล้าทำในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ และทำได้จริง ทำออกมาเห็นเป็นรูปธรรมจริง ตอนที่เราบอกว่าจะชนะสิงคโปร์ มีคนบอกว่า เงินก็ไม่มี ไม่มีทางเป็นไปได้ กลายเป็นแรงขับของเรา จนทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน มาร่วมตั้งสถาบันระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ที่สจล. เป็นที่ 2 จากคอนแทรค 5 ปี
ลึกๆ แล้วผมมีแพชชั่นจะชนะสิงคโปร์ ประเทศไม่มีน้ำที่เพียงพอ แต่เป็นประเทศอันดับหนึ่ง ร่ำรวย มีความสุข มีพื้นที่สีเขียว สะอาดสะอ้าน มีความเป็นระเบียบ การจะชนะคนเก่ง เราต้องคบกับคนที่เก่งกว่า ตอนแรกมองที่ MIT ที่ผมจบ น่าจะเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ลงหนังสือพิมพ์หน้า 1 ของ MIT เรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก และเป็นคนที่เซ็นอนุญาตเด็กไทยไปเรียน MIT มากที่สุดตั้งแต่จบมา 17 ปี เป็น 10 คนแล้ว แต่ MIT บอกว่า ไม่ให้ใบปริญญานอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอันขาด ฮาวาร์ดก็ไม่ให้ แต่ถ้ามาอบรม MOU หรือเป็นคอร์สสั้นๆ ได้ แต่ไม่ได้ปริญญาจะได้ปริญญา MIT ต้องไปเรียนเท่านั้น และไม่ให้ปริญญากิตติมศักดิ์ด้วย
- Disruptor 1 ดึงคาร์เนกีเมลลอนตั้งที่ สจล.?
ดังนั้น จึงมาคิดว่าจะหาใครดีที่เป็นสุดยอด จึงนึกถึงคาร์เนกีเมลลอน เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเอไอ ด้วยความที่ทำวิจัยเรื่องเอไอมา 20 ปี ใช้เอไอ ในการพยากรณ์การทรุดตัวของดินกรุงเทพฯ จากการขุดอุโมงค์ใต้ดินคนแรกของโลก เชื่อว่าเอไอต้องมา ก็ไปติดต่อคาร์เนกีเมลลอน เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ส่งทีมทูตไป เขาบอกว่าเมืองไทย แค่มาต่อเครื่องบินไปสิงคโปร์ เรื่องเศรษฐกิจเขาก็สนใจสิงคโปร์ จีน เขาพูดจนเราคิดว่าเราไม่มีความหวัง
แต่สุดท้าย เขาพูดทิ้งท้ายว่า เรามีศิษย์เก่าที่มาจากประเทศไทย 300 กว่าคน ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลยตอนที่มาเรียน เด็กไทยเก่งจริงๆ รักเด็กไทย เพราะสุภาพ มีความกตัญญู เขาจึงให้โอกาสไปวางแผนว่าจะทำอย่างไร แล้วมาคุยกัน ซึ่งตอนนั้นสิงคโปร์ จีน ก็ต่อสู้กับเรา ปรากฏว่าเรามาคุยกับพันธมิตรของเรา และได้ผู้สนับสนุน ได้ศิษย์เก่าที่มาร่วม และไปเจรจา สุดท้ายเขาก็มาที่เรา เป็นที่เดียวในเอเชียแปซิฟิก นี่ก็คือ Disruptor แบบหักศอก ใครๆ ก็คิดว่าสิงคโปร์ต้องได้ไป
- Disruptor 2 ตั้งคณะแพทยศาสตร์?
จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิดนัก เพราะว่าการตั้งคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งยากมากในกฎระเบียบใหม่ แต่เราก็ทำได้ เป็นคณะแพทย์ล่าสุดแห่งที่ 22 ซึ่งคนไม่คิดว่าลาดกระบังจะตั้งคณะแพทย์ได้ นี่คือ วิถี Disruptor ต้องเริ่มต้นด้วยความสงสัย ความเป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะเป็นความจริง
Make it Happened คือ พูดไปแล้วคนไม่เข้าใจ วิสัยทัศน์ คือ มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ถ้าเกิดพูดแล้วคนบอก อ๋อ...นั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ มันไม่ล้ำ หรือถ้าเกิดก็ไม่ใช่เป็น Disruptor ก็แค่เป็น Changer ธรรมดา การจะเป็น Disruptor คือเหนือคำบรรยาย ดูเป็นไปไม่ได้ เช่น เอาชนะสิงคโปร์ได้ ตั้งคณะแพทย์ หรืออธิการมาเต้นแร็พ อธิการปลอมตัวเป็นนักศึกษา ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ แต่มันเป็นไปได้
การตั้งคณะแพทย์ที่ สจล. สร้างแพทย์ที่นอกจากรักษาได้ เข้าใจเทคโนโลยี สร้างองค์ความรู้ และออกไปสร้างเทคโนโลยี ซึ่งเราพึ่งพาตัวเองได้ สจล. แข็งแกร่งเรื่องวิศวะ สถาปัตย์ วิทยาศาสตร์ และไอที แพทย์ต้องดีไซน์ นี่คือการสร้างเซอร์ไพรส์ Disruptor / Make it Happened / Shock Everyone หมอเมืองไทยเก่งมาก แต่เครื่องมือซื้อหมดเลย เป็นแสนล้าน เงินเราออกนอกประเทศหมด แบบนี้เราต้องกินน้ำใต้ศอกเขา ถ้าเราผลิตแพทย์เองได้ จะเป็นการดีต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก
- แล้วยังมี Disruptor 3 เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นสมาร์ทซิตี้?
ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยน ผมอยากให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องถูกรังแกจนเคยชิน พูดว่ารถในกรุงเทพฯ ยังไงก็ติด เห็นน้ำท่วมในซอยบ้าน จนคิดว่ามันไม่มีทางที่น้ำจะไม่ท่วม จนชิน ขณะที่โตเกียว คน 40 กว่าล้านคน หนาแน่นกว่ากรุงเทพฯ แต่รถไม่ติด เจอพายุไต้ฝุ่น 7-12 ลูกต่อปี หนักกว่าไทย ทำไมน้ำไม่ท่วม พื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำอ่าวโตเกียวตั้งเยอะ แต่น้ำไม่ท่วม ทำไมเขาทำได้
ลอนดอน ใหญ่เท่ากรุงเทพฯ ตอนนี้คนขี่จักรยานไปทำงาน กรุงเทพฯ บอกว่า ทำไม่ได้ ร้อน สิงคโปร์ร้อนกว่า เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่เขาเดิน ส่วนประเทศไทยจะมีพายุเข้าก็ไม่รู้ก่อน ฟุตบาธ เดินไม่ได้ ไม่ใช่เพราะร้อนนะ แต่มันเดินไม่ได้จริงๆ เราควรใช้ความฉลาดของเทคโนโลยี AI มาแก้ไขเรื่องของการจราจร ตอนนี้เขาทำมาทุกเมืองแล้ว สิงคโปร์ก็เป็น Smart Nation โตเกียวก็ทำแล้ว ลอนดอน ไปถึงไหนแล้ว และเทคโนโลยีปัจจุบันก็ทั้งถูก และเชื่อถือได้แล้ว อยู่ที่ผู้นำ ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ต้องมีความเข้าใจ
สจล. มีศูนย์พยากรณ์อากาศ ใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาท แต่พยากรณ์อากาศแม่นมาก กว่าการใช้เงินมหาศาล อาจารย์จบจาก MIT มาทำ รู้ก่อน 24 ชั่วโมงว่าฝนจะตกไล่ตั้งแต่หนองจอก มีนบุรี เข้าไปที่รามคำแหง รัชดา เพลินจิต เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้จะได้แจ้งเตือนประชาชนว่า กรุณาไปทำงานช้าสัก 2 ชั่วโมง รถก็ไม่ติด หรืออาจจะให้ทำงานที่บ้าน หรือโรงเรียนมหาวิทยาลัยอาจจะเลื่อนนิดนึงก็ได้
เรื่องเปิดปิดประตูน้ำ เอาไวไฟตัวเล็กๆ ไปติด ก็รู้แล้วว่า ตัวสูบน้ำทำงานดี ไม่ดีอย่างไร สามารถดูผ่านมือถือได้เลย ขนาดเปิดไฟ เปิดแอร์ที่บ้าน มือถือยังทำได้ นั่นคือสมาร์ทซิตี้จริงๆ ใช้บริหารเมือง ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย แก้ปัญหาที่ซ้ำซาก แจ้งก่อนที่ฝนจะตก แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนน้ำจะมา หรือแก้ปัญหารถติด ด้วยการบริหารการจราจร
- แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็น Disruptor?
ตอนเป็นเด็ก เราแสวงหา Role Model เคยบอกพ่อว่า อยากไปเหยียบดวงจันทร์เหมือนนีล อาร์มสตรอง มีความฝัน มีจินตนาการ พ่อไม่เคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พ่อบอกว่าขอให้ตั้งใจเรียนให้ดี ก็สามารถเป็นนักบินอวกาศได้ ด้วยความที่พ่อเป็นครู จึงชอบซื้อหนังสือ เช่น National Geographic มีภาพสวยๆ เราเห็นตึกเอ็มไพร์สเตท และมีวิศวกรถ่ายรูปข้างหน้ารู้สึกว่าเท่มาก เห็นคนที่สร้างสะพานโกลเด้นเกท และขึ้นไปบนยอดสะพาน อยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง อยากจะสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นบนโลก และยืนอยู่ตรงนั้น อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เราก็ชอบคนนั้นคนนี้เป็น Role Model
- ที่ทำทั้งหมดเพราะอยากเป็น Role Model ให้เด็กรุ่นใหม่ ?
ถ้าผมสามารถเป็น Role Model ในบางจุดให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ ผมถือว่าเป็นงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะ Role Model ในเรื่องของความมานะ จากเด็กบ้านนอกมาสอบเข้าเตรียมอุดมฯ สอบไม่ได้ ต้องกลับไปเรียนที่เดิม ตั้งใจเรียนจนได้โควต้าช้างเผือกลาดกระบัง แล้วเกือบถูกรีไทร์ แต่ก็กลับมาได้เกียรตินิยม ภาษาอังกฤษก็โง่มากๆ ต้องสอบถึง 14 ครั้งถึงจะผ่าน แต่สุดท้ายแล้วก็กล้าที่จะไปรอพบผู้ว่า กทม. ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอผลงานปี 3-4 เรื่องการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกตั้งแต่ยังไม่มีบีทีเอส
- ที่เลือกออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะอยากไปเรียน MIT?
มาจากความฝัน ตอนเด็กคุณพ่อเคยพาไปงานโชติช่วงชัชวาล ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านมาเปิด ได้โบรชัวร์ น่าจะบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ เปิดมาหน้าแรกเห็นผู้ชายใส่แว่นตา อายุราว 50 กว่าปี บุคลิกดีมาก ยืนเท้าโต๊ะแล้วยิ้ม ใส่แหวนทอง รู้สึกชอบลุงคนนี้ บุคลิกดี เป็นประธานบอร์ด บอกพ่อว่าอยากจะไปเรียนเหมือนคุณลุงคนนี้ เขาเรียนวิศวกรรม เครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ท่านคือ ดร.เชาวน์ ณศีลวันต์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่อายุ 47 อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
เราเห็น Role Model และจำสถาบันนี้ตั้งแต่ตัวเล็กๆ 10 ขวบ พอเข้ามาเรียนลาดกระบัง ช่วงนั้นเศรษฐกิจดี ปี 2533 พ่อแม่อยู่ระยอง ขายที่ได้ เงินบาทดี 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คนชนชั้นกลางก็ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ เรารู้สึกว่าอยากไปเรียนเมืองนอก แม่ก็บอกว่าพอจะมีที่ดินที่ระยองขายน่าจะส่งได้
ซึ่งการทำให้ประสบความสำเร็จ ชีวิตของมนุษย์หรือของผมเอง มันต้อง Design คือ การออกแบบ ต้องวางแผนชีวิต ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ โดยไม่วางแผน จะเป็นอาจารย์ก็ต้องทำวิจัย จะทำ ผศ.รศ. เรียนหนังสือจะเข้าคณะอะไรต้องวางแผน ผมก็วางแผนไปพบผู้ว่าฯ กทม. วางแผนให้ท่านช่วยเขียนแนะนำ จนได้ไปเรียนที่ MIT เขาเรียกกุศโลบาย แต่ก็เป็นแผนที่ผู้ว่าฯ กทม.ประทับใจมาก และส่วนหนึ่งทำให้รถไฟฟ้าใต้ดินเกิดขึ้นในวันนี้ ตั้งแต่สายแรก การออกแบบที่ 2 คือ Desire ความมุ่งมั่น เพราะฉะนั้น ต้องมี 2 ตัวนี้
คนเราไม่มีทางประสบความสำเร็จในครั้งแรก ออกแบบดีอย่างไร ก็ต้องพลาด แต่ถ้าไม่มี Desire ไม่มีแพชชั่น ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้ใหม่ แต่ถ้ามีแต่แพชชั่น ไม่ได้ใช้สมองวางแผนเลย ก็ล้มอยู่นั่น เพราะฉะนั้น อยากจะให้กำลังใจว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องวางแผนชีวิตเหมือนเด็กต่างประเทศ เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร ล้มแล้วลุกได้ไหม ดังนั้น 2 อย่าง Design และ Desire ไม่ว่าอยู่โลกไหนก็ใช้ได้
- ดูเหมือนเป็นคนที่มีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นสูง?
สิ่งที่เราเป็นในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากแรงผลักดันของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในยุคนั้นมันพอที่จะทำได้ ผนวกกับเรารู้สึกชอบด้วย ก็เลยเติบโตมาเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผมได้ คือ เรื่องของการฝึกให้เป็นผู้นำตั้งแต่เด็ก เวลาผมไปโรงเรียน แม่ก็เอาส้มไปให้ แม่บอกส้มอันนี้ของเอ้ ส่วนอีก 2 ใบ เอ้ต้องให้เพื่อน หรือเวลาห่อข้าวไปทานที่โรงเรียน แม่ก็จะทำไปเยอะ แล้วก็แจกเพื่อน แม่บอกครูว่าให้ใช้เอ้ ให้ถือพาน เวลาโรงเรียนมีอะไร แม่ก็ทำกับข้าวไปเลี้ยงครูและเด็กทั้งโรงเรียน ให้เห็นคุณค่าของการให้ ผมจึงรู้สึกว่า ผู้นำไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องสามารถให้คนอื่นได้
พ่อแม่บอกครูว่า มีอะไรให้ใช้เอ้ จึงเป็นที่รู้จักของครู เลยได้เป็นหัวหน้าชั้นตั้งแต่อนุบาล จนจบ MIT ผู้อยู่เบื้องหลังคือพ่อกับแม่ที่ปั้นเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จนเป็นนิสัย
- ทุกวันนี้คิดว่ามาถึงจุดสูงสุดในชีวิตแล้วหรือยัง
ไม่มีใครรู้ได้ว่า จุดสูงสุดของเราอยู่ตรงไหนถามว่าพอใจไหม บอกได้ว่าที่สุดเลย ทำไมวันนี้ถึงทำงานหนักได้ทุกวัน พอล้มตัวลงนอนก็หลับ นอนน้อยแต่หลับได้ วันละ 4-5 ชั่วโมง ทุกวันก่อนนอนผมยิ้มนะ คิดว่าเรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร เด็กต่างจังหวัดบ้านนอก เคยเรียนโรงเรียนระยองวิทยาคมเป็นที่หนึ่งของจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ เขาเก่งกว่าเยอะมาก สู้กันไม่ได้ ทำให้เราคิดว่ามาถึงวันนี้ได้ ไปเรียนมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก ได้เป็นศาสตราจารย์ เป็นนายกวิศวกรรมสถาน นายกสภาวิศวกร เป็นอธิการบดี ได้รางวัลมากมาย รู้สึกว่าเราภูมิใจ ดีใจ เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้เราอยากจะทำอะไรให้คนอื่นบ้าง
ความภาคภูมิใจของเรา กลายเป็นพลังที่ว่าเราน่าจะทำได้ดีขึ้น น่าจะทำอะไรให้คนได้เห็นมากขึ้น แก้ปัญหาที่ยากขึ้น ด้วยความมั่นใจมากขึ้น และยอมรับกับความล้มเหลวมากขึ้น สร้างพลังใจขึ้นมา ยิ่งมีปัญหาใจก็ยิ่งเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น ความที่เราเจอปัญหาต่างๆ ทำให้ใจของผมแกร่งขึ้นทุกวัน และทำให้เราเข้าใจว่าปัญหามันเป็นบวก ยิ่งเจอปัญหามาก ยิ่งทำให้ได้พัฒนาตัวเอง

Cr: จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ i-Newspaper อังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562
https://inews.bangkokbiznews.com/read/375720

ข่าวจาก : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

จำนวนเข้าชม : 7990