สจล. ถกประเด็นหาทางออกวิกฤติฝุ่นพิษไทย PM 2.5 อย่างยั่งยืน

สจล. ถกประเด็นหาทางออกวิกฤติฝุ่นพิษไทย PM 2.5 อย่างยั่งยืน

เปิดโรดแมประบบการคาดการณ์ฝุ่นเฉพาะจุด ลดความเสี่ยงระยะยาวกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

  • สจล. รุดออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น พร้อมฟังก์ชั่นเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นและพัดลมระบายอากาศ

นักวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชี้แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 เน้นการลดกิจกรรมก่อฝุ่น – ลดยานพาหนะก่อฝุ่น – ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ จากสาเหตุที่มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ และวิถีชีวิตของประชาชนภายในเมือง รุดออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตพื้นที่เมือง พร้อมโรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปีพ.ศ. 2562 – 2563 จากการพัฒนาระบบการตรวจวัดฝุ่นละอองเฉพาะจุด นำร่องสถานศึกษาทั่วกรุงเทพฯ เริ่มต้นเขตลาดกระบัง กรกฎาคม 2562 ทั้งนี้แนวโน้มปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน กว่า 4,000,000 คนในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ถือเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ ทั้งนี้ สจล. ได้จัดเสวนาทางออกปัญหาวิกฤติฝุ่นประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และขอนแก่น แต่สาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันจากรูปแบบการพัฒนาเมืองและวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหาครที่พบว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นผลมาจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และการก่อสร้างสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์พร้อมกันในหลายโครงการ ปัญหาดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน ที่ต้องการการดูและเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเจริญเติบโต

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ

  • การลดการก่อฝุ่นในเขตพื้นที่มีมลพิษ เช่น ใช้ตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละอองในโครงการก่อสร้าง สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เป็นการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในระยะสั้น
  • ลดใช้ยานพาหนะก่อฝุ่น การตรวจสภาพเครื่องยนต์ยานพาหนะขนส่งสาธารณะและยานพาหนะอื่นๆ ให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และในระบบยานพาหนะของภาครัฐควรใช้ระบบการเช่ารถมากกว่าการจัดซื้อ เนื่องจากมีความคุ้มค่าในเรื่องการบำรุงรักษา และมุ่งปรับเปลี่ยนยานพาหนะสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง เป็นการแก้ปปัญหาระยะกลาง
  • ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ การใช้แนวคิดการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมจูงใจให้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทย อยู่ในขั้นตอนการเสนอมาตรการเรียกเก็บภาษีมลพิษและจะออกมาบังคับใช้ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลวางแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเชิงรุกระยะยาว และไม่ผลักภาระของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพไปให้ประชาชน เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) กล่าวว่า สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ได้ออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตพื้นที่เมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถเฝ้าระวังจุดเสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัด สำหรับการก่อสร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กจะประยุกต์จากจุดรอรถเมล์ที่มีอยู่โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองและพัดลม เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากเซ็นเซอร์ตรวจจับแจ้งว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในบริเวณนั้นมีสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ระบบพัดลมจะทำงานโดยอัตโนมัติ พร้อมติดตั้งป้ายแจ้งเตือนบอกคุณภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถพัฒนาและปรับปรุงต่อเพื่อให้เป็นสมาร์ท บัส สตอป (Smart Bus Stop) เช่น การมีฟังก์ชั่นเรียกรถพยาบาลหรือตำรวจ จอป้ายแจ้งเตือนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคน (Interactive Panels) เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะได้พัฒนานวัตกรรมสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ ในการแก้ปัญหาสังคมเมือง เช่น การพัฒนาเอไอ (AI) ช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ บิ๊กเดต้า (Big Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร การสร้างแก้มลิงใต้ดินสำหรับรองรับน้ำท่วมกทม. เป็นต้น

สำหรับโรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปีพ.ศ. 2562 – 2563 สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศและวางแผนการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยทีมอาสาสมัครสม็อคแมน (SMOG Man) เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบเรียลไทม์เฉพาะจุด รวมทั้ง การพัฒนาระบบการตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละที่ตั้งเป้านำร่องสถานศึกษาทั่วกรุงเทพฯ โดยเขตลาดกระบังจะเป็นพื้นที่แรกในการเก็บสถิติเพื่อคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองภายในเดือน กรกฎาคม 2562 ซึ่งแนวโน้มปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากการพัฒนาโครงการก่อสร้างต่างๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน ข้อมูลการพยากรณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในอนาคต จะได้รับการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเฟซบุ๊ค SCiRA KMITL ด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเฉพาะจุดที่จะเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว คือ กลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน ที่มีกว่า 1,700,000 คน ที่อาศัยหรือเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเด็กอีกกว่า 2,500,000 คนในเขตเมืองใหญ่ ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี แพร่ ลำปาง เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยรถสาธารณะเป็นส่วนใหญ่และหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้ป้องกันฝุ่นนั้นไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระใบหน้าของเด็กส่งผลให้ป้องกันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตทางอ้อม

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) คณะแพทยศาสตร์ สจล. และสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ (ISCI) ได้ร่วมจัดเสวนาทางออกปัญหาวิกฤติฝุ่นประเทศไทย เพื่อเปิดโรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปีพ.ศ. 2532 – 2563 เฉพาะจุด และโครงการออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น พร้อมถกประเด็นความร้ายแรงของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนระยะยาว สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 11403