ประวัติท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์

 

          เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) มีนามเดิมว่า วร หรือ วอน เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับท่านผู้หญิงกลิ่น ธิดาหลวงแก้วอายัติ (จาด) เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 8 อุตรสาธ แรม 6 ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก 1160

          ท่านเริ่มรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นหมาดเล็ก และเป็นอุปทูตติดตามพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ราชทูต ออกไปเจริญพระราชไมตรีที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2403 ต่อมาท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก และเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสอีกครั้งในปี พ.ศ.2409

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เป็นเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม ศักดินา 10,000 เมื่อ พ.ศ.2412 ท่านดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมเป็นเวลา 19 ปี จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 10 ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2431 รวมอายุได้ 60 ปี

          บุคคลทั่วไปออกนามเรียกเป็นการสามัญว่า “ท่านเจ้าคุณกลาโหม” หรือ “ท่านเจ้าคุณทหาร” และชื่อเรียกนี้ กลายมาเป็นชื่อเรียกของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในเวลาต่อมา

 

 

 

ผืนดินแห่งความรู้ จุดเริ่มต้น สจล.

          ด้วยสายตาที่มองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เดินทางมาควบคุมงานการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ผ่านท้องที่เขตลาดกระบัง ได้สัมผัสถึงปัญหาในพื้นที่ของชาวบ้านที่มารับจ้างขุดคลอง ส่วนใหญ่เมื่อได้รับค่าจ้างแต่ละวันก็มักจะหมดไปกับการดื่มสุราและเล่นการพนัน จนหลายครั้งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน

          ท่านจึงได้มีปรารภกับคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ธิดาลำดับที่ 12 ของท่านว่า หนทางเดียวที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้นคือ การให้การศึกษา จนในเวลาต่อมา เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ได้จับจองที่ดินบริเวณริมคลองประเวศบุรีรมย์ ราวม 1,500 ไร่ ตามศักดินาของขุนนางในเวลานั้น โดยมีความตั้งใจ จะใช้ที่ดินดังกล่าว มาพัฒนาการศึกษาในท้องที่ลาดกระบังให้ดีขึ้น

          เวลาต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรม มรดกในผืนดินแปลงใหญ่ตกแก่ท่านเลี่ยม ประกอบกับการได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านละแวกหัวตะเข้ที่ใช้ชีวิตกันตามมีตามเกิด และไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร เช่นเดียวกันกับในตำบลใกล้เคียง เรื่องไปถึงบ้านบางบัว ลำปลาทิว ทับยาว ก็ยังไม่มีสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเลยแม้แต่แห่งเดียว

          ท่านจึงได้ร่วมกันกับหลวงพรตพิทยพยัต (พรต เดชา) คู่สมรส ซึ่งนำทุนทรัพย์ส่วนตัวมาร่วมสานต่อเจตนารมณ์ของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เปลี่ยนที่ดินผืนดังกล่าวให้กลายเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่เด็ก ๆ รุ่นต่อมา โดยก่อตั้ง “โรงเรียนพรตพิทยพยัต” ขึ้น สำหรับนักเรียนประถมถึงชั้นมัธยม กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2500 ท่านเลี่ยมได้มอบที่ดินจำนวน 1,041 ไร่ ให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล และอีก 200 ไร่ แก่โรงเรียนพรตพิทยพยัต โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบที่ดินดังกล่าวให้กรมอาชีวศึกษา ซึ่งในเวลานั้น ศาสตราจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา รับที่ดินเพื่อที่จะนำไปพัฒนาและจัดตั้งเป็นสถานศึกษาอาชีวะขั้นสูง ตามวัตถุประสงค์ของผู้มอบ เพื่อจัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาช่างและเกษตรกรรม และให้ใช้ชื่อสถานศึกษาว่า “วิทยาลัยเจ้าคุณทหาร”

          การดำเนินการก่อตั้ง “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” ในครั้งนั้น คณะกรรมการพัฒนาวางแผนและจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระนาม “พระจอมเกล้า” เป็นชื่อสถาบัน

 

ในปี พ.ศ.2514

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า”

 

          ในปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตราพระราชลัญจกร “พระมหามงกุฎ” เป็นตราประจำสถาบัน และพระราชทานสีประจำองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสีประจำสถาบัน คือ สีแสด

          ต่อมา โรงเรียนเกษตรกรรม จังหวัดนครปฐม ย้ายมาที่อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพฯ และให้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร” ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร”

          หลังจากนั้นได้ดำเนินการย้ายวิทยาลัยโทรคมนาคม จากจังหวัดนนทบุรี มาอยู่ที่ลาดกระบัง เพื่อจัดตั้งเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ และย้ายวิทยาลัยก่อสร้างจากบางพลัด มาจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

"เมื่อโอนย้ายทั้งสองสถาบันการศึกษามาจัดตั้งเป็นคณะแล้ว

จึงได้จัดตั้งเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับแต่นั้น

โดยนำคำว่า “เจ้าคุณทหาร” มาใส่ไว้ในชื่อ

เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ในปี พ.ศ.2522"

 

           เมื่อโอนย้ายทั้งสองสถาบันการศึกษามาจัดตั้งเป็นคณะแล้ว จึงได้จัดตั้งเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับแต่นั้น โดยนำคำว่า “เจ้าคุณทหาร” มาใส่ไว้ในชื่อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ในปี พ.ศ.2522 ศาสตราจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ ได้ดำเนกนากรสมทบวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารมารวมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อจัดตั้งเป็นคณะเทคโนโลยีการเกษตร

          จวบจนทุกวันนี้ พื้นที่ดังกล่าว ได้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โรงเรียนพรตพิทยพยัต วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร โรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ และโรงเรียนศึกษาพัฒนา ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปพัฒนาสังคมและประเทศตามเจตนารมณ์เมื่อครั้งริเริ่มก่อตั้งสถาบัน

 

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 49535