มองอนาคตไทยผ่านสายตาอธิการบดี สจล.

ทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนา !!!

หัวใจของการพัฒนาประเทศคือเทคโนโลยีเท่านั้น

ค้นหาคำตอบได้ในคอลัมน์

มองอนาคตไทยผ่านสายตาอธิการบดี สจล. (สยามรัฐ)

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ศิษย์เก่า MIT เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิศวกรรมโยธา ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ เป็นคนแรกของไทย เป็นอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ปัจจุบันนอกจากจะเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แล้ว ยังเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ วัยเพียง 45 ปี เข้าถึงนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง เคยสร้างความฮือฮาด้วยการแต่งชุดนักศึกษาเข้าไปนั่งปนอยู่กับเด็กปี 1 ในงานปฐมนิเทศ ก่อนจะลุกเดินขึ้นไปเปิดงานบนเวทีในฐานะอธิการบดี เล่นเอาบรรดาเฟรชชี่พากันงงทั้งห้องประชุม และน่าจะเป็นอธิการบดีเพียงหนึ่งเดียวที่เด็กๆ นักศึกษาเรียกขานว่า "พี่เอ้" อย่างเป็นกันเอง

แนะมหาวิทยาลัยจับมือ มุ่งเน้นคุณภาพ

อ.สุชัชวีร์ แสดงความเป็นห่วงมหาวิทยาลัยไทยในยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงจากในอดีตครึ่งต่อครึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาโถม ต้องรีบปรับตัว ทุกสถาบันต้องรวมตัวกัน บางหลักสูตรควรควบรวมเพราะคนเรียนน้อยลงเรื่อยๆ แล้วไปมุ่งเน้นที่คุณภาพ ถ้ามีคุณภาพผู้ปกครองก็พร้อมจ่าย จะเน้นปริมาณแบบในอดีตไม่ได้แล้ว

เช่น ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จัดทำหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้ใบปริญญาจาก 2 สถาบัน ผู้เรียนก็พร้อมที่จะทุ่มเทเต็มที่

อีกตัวอย่างคือ สจล. เปิดคณะแพทยศาสตร์ โดยเอาสาขาวิชาแพทย์กับวิศวะมารวมกัน เพราะอุปกรณ์การแพทย์ยุคใหม่ล้วนเกี่ยวข้องกับวิศวะทั้งนั้น จึงเป็นโจทย์ว่าให้ต้องสร้างหมอกับวิศวะในคนคนเดียว ให้ต่างชาติได้เห็นว่าในอนาคตไทยจะมีศักยภาพพึ่งพาตัวเองในด้านสาธารณสุขและด้านการแพทย์มหาวิทยาลัยยุคนี้ต้องกล้าคิด กล้าก้าวกระโดด กล้าแหวกแนวกล้าที่จะไปให้สุดโต่งด้านคุณภาพ ทลายกำแพงระหว่างองค์กรเพื่ออนาคตทั้งของสถาบันและเด็กไทย

หัวใจการพัฒนาประเทศคือเทคโนโลยีเท่านั้น

อ.สุชัชวีร์ ชี้ให้เห็นว่าหนทางที่ไทยจะก้าวพ้นความยากจนได้ คือจะต้องใช้เทคโนโลยี เพราะปัจจัยเดียวที่จะสร้างมูลค่า เพิ่มได้อย่างไร้ขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาทุ่มเทอย่างหนักกว่าจะปลูกข้าวจนสามารถขายได้ 1 เกวียน ได้เงินหมื่นบาท ต้อง ขายถึง 3 เกวียน ถึงจะเท่ากับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง หรือ ฟันเทียม 1 ชี่ ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ ราคากว่าแสนบาท ต้องขาย ของเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้

ลองมองไปต่างประเทศที่ก้าวพ้นจากความยากจน เช่น เยอรมนีแพ้สงครามโลก แต่วันนี้ ร่ำรวยจากการขายรถยนต์ รถไฟเครื่องมือแพทย์ เครื่องบิน ญี่ปุ่นก็แพ้สงครามก็พลิกฟื้นประเทศจากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เทคโนโลยีต่างๆ เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่แตกแยก ปัจจุบันก็ก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจจากสินค้าเทคโนโลยี ประเทศเล็กๆ อย่างไต้หวัน มุ่งพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขณะที่จีนให้วันนี้ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำมาหากินกับเทคโนโลยี อย่าง Alibaba, Tencent และ Huawei

แนะรัฐบาลตีโจทย์ "ไทยแลนด์ 4.0" ให้แตก

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน อ.สุชัชวีร์ มองว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก อย่างน้อยก็เป็นการประกาศว่าไทยจะไม่ย่ำอยู่ที่เดิม จะไม่ใช่ประเทศที่ชาวสวนยางขายยางพารา 3 กิโลกรัม ได้เงินแค่ 100 บาท ในขณะที่ยางรถยนต์ ขายกันเส้นละเป็นหมื่นเป็นแสนบาท ซ้ำยังผลิตโดยประเทศซึ่งไม่มียางพาราแม้แต่ต้นเดียว จากนี้ เราต้องเน้นหนักเรื่องงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

แม้ว่าจะเห็นด้วยว่ากำลังไปถูกทาง แต่รัฐบาลก็ต้องเข้าใจและทุ่มเทอย่างมาก รวมทั้งตระหนักกว่าสถาบันการศึกษาคือหัวใจสำคัญของไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสร้างองค์ความรู้ งานวิจัยงานทดลอง และการสร้างคน ต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมกับสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น

เช่นเดียวกับ สจล. จับมือกับ Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก ในด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสหรัฐฯ ร่วมกันตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในชื่อว่า CMKL เพื่อยกระดับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในไทยให้ก้าวกระโดด เพราะหากคิดจะสู้กับสิงคโปร์ และร่วมมือกับคนที่เก่งกว่าสิงคโปร์ เพื่อให้ช่วยดึงเราขึ้นไปเหนือกว่าสิงคโปร์

เราต้องเปิดใจ ดึงคนเก่งมาอยู่กับเราให้มาก อย่าคิดแค่จะแข่งกับตัวเอง ถ้าอยากจะก้าวหน้าต้องเห็นการเปรียบเทียบกับคู่แข่งในประเทศที่เหนือกว่าเรา ซึ่งส่วนตัวอยากให้ไทยตั้งโจทย์แข่งขันกับ 2 ประเทศในเอเชีย คือ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้เชื่อว่าไม่ยากเกินกว่าที่ไทยจะเอาชนะ ถ้าไม่ตั้งหลักแบบนี้ เราก็จะไม่มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน

 

 

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 8074