รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ "จากเด็กช่างกล ที่นำความผิดพลาดในอดีตพลิกให้เป็นโอกาส"
รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์
“ศิษย์เก่าดีเด่นด้านความสำเร็จในอาชีพ/หน้าที่การงาน”
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พระจอมเกล้าเจ้าลาดกระบัง เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของ นพพร ลีปรีชานนท์ ในชีวิตของเขานั้น ลาดกระบังได้ให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เขาไม่เคยลืม ทำให้เด็กช่างกลคนหนึ่งกลายเป็นวิศวกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน แน่นอนว่าความสำเร็จของเขาย่อมนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชาวลาดกระบัง ส่วนการจะถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือไม่นั้น อาจารย์นพพร ได้บอกกับเราไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผมคงไม่อาจตัดสินเองได้ต้องให้คนอื่นเป็นผู้ตัดสิน ในวันที่ผมได้รับแจ้งจากสถาบันฯ อันเป็นที่รักว่าผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ฯ นั้น ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ ยิ่งเมื่อผมได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จนั้น จึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงานเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละวิชาชีพ สำหรับผมความสำเร็จในอาชีพที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการได้รับตำแหน่งหน้าที่แต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องประกอบไปด้วย การได้ใช้องค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่มีจากวิชาชีพอย่างเต็มความสามารถและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตอบแทนสังคม แต่เทคนิคที่ผมมักนำมาใช้ยามเมื่อชีวิตไม่ได้เป็นดั่งใจก็คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง ผมจะขอเล่าแรงบันดาลใจเริ่มต้นที่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมมาถึงจุดนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่รุ่นน้อง ๆ บ้างไม่มากก็น้อย”
อาจารย์นพพร ได้เล่าต่อว่า แรงบันดาลใจปฐมบทแรกที่เชื่อมโยงกับพระจอมเกล้าลาดกระบังของเขาเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาลาดกระบัง ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาระดับอนุปริญญาจากช่างกลปทุมวัน (ชื่อดั้งเดิม) เมื่อ พ.ศ. 2532 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนช่างกลอันดับหนึ่งของประเทศในยุคนั้น ซึ่งผ่านมา 31 ปีแล้ว
“ในยุคนั้นเด็กช่างกลปทุมวันส่วนใหญ่จะได้ทำงานเป็นช่างเทคนิคที่เสนอเงินเดือนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาชีพลูกจ้างในระดับเดียวกันจากบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพราะเป็นยุคที่รัฐบาลนำประเทศไทยไปเป็นหนึ่งในประเทศที่เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า (Newly Industrialized Countries) หรือที่เรียกกันติดปากว่า NIC แต่สำหรับนักเรียนช่างกลอีกจำนวนหนึ่งแต่สัดส่วนไม่มากนัก ต้องการศึกษาต่อเพื่อเป็นวิศวกร ซึ่งเป้าหมายและความใฝ่ฝันของเด็กช่างกลที่ต้องการเรียนต่อเป็นวิศวกรไฟฟ้าสมัยนั้น คือ ที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง แต่ตอนนั้นสถาบันเปิดรับ วศ.บ. ไฟฟ้าสมบทรุ่นแรกเพียง 30 กว่าคนเท่านั้น จากคู่แข่งทั่วประเทศหลายร้อยคนซึ่งการแข่งขันสูงและเข้าได้ยากมาก ผมจำได้ว่าต้องใช้ความพยายามถึง 2 รอบปีการศึกษากว่าจะสอบเข้าได้ อันที่จริงก่อนหน้านั้นสถาบันฯ ได้เปิดหลักสูตรที่รับนักศึกษาระดับอนุปริญญาเข้าศึกษาในหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) เท่านั้น และปี พ.ศ. 2532 เป็นปีแรกที่สถาบันฯ รับนักศึกษาระดับอนุปริญญาเข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) ให้เข้ามาเรียนสบทบกับหลักสูตร วศ.บ. ที่รับนักศึกษาจากการสอบเอ็นทร้านท์ ต่อมาเลยเรียกเด็กวิศวฯกลุ่มนี้ติดปากว่า วศ.บ. สมทบ และต่อภายรุ่นหลัง ๆ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีการโอนหน่วยกิตไปเรียนเท่ากับนักศึกษาหลักสูตร 4 ปี กลายเป็น วศ.บ. ต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ. กำหนด และหลักสูตร วศ.บ. ต่อเนื่องนี้ได้ดำเนินไปเพียง 17 รุ่นเท่านั้น”
“ผมจบอนุปริญญาในปี 2532 ซึ่งลาดกระบังได้เปิดหลักสูตร วศ.บ. สมทบ เพื่อรับนักศึกษาเป็นรุ่นแรกพอดี ผมผิดหวังสอบไม่ผ่านเข้าเรียนรุ่นนั้น ในวันสอบครั้งนั้นเกิดความผิดพลาดที่กลายเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งสำหรับชีวิตผม เหตุเกิดเนื่องจากความประมาทเลินเล่อ บ้านผมอยู่ปิ่นเกล้าต้องขึ้นรถเมล์ไปต่อรถไฟที่หัวลำโพงเพื่อไปสอบ แต่วันนั้นไม่ได้เผื่อเวลาออกจากบ้าน ทำให้ตกขบวนรถไฟไป 1 เที่ยว เมื่อขึ้นเที่ยวถัดไปทำให้เข้าห้องสอบสายไปครึ่งชั่วโมง และเมื่ออยู่ในห้องสอบก็ตื่นเต้น เพราะข้อสอบเป็นข้อเขียนทุกข้อ วิชาที่นำมาทดสอบก็เป็นวิชาที่ใช้ออกข้อสอบไล่ของเด็กวิศวฯ ชั้นปีที่ 1-2 จำได้ว่ามีวิชา Electromagnetic, Electrical, Electronic Circuit, Machine และ Engineering Math แม้ปีนั้นผมสอบไม่ผ่าน แต่ก็ได้กลายเป็นโอกาสที่ผมได้เรียนรู้ชีวิตจำลองบทเรียนแรกนั่นคือ ความมีวินัยและการบริหารเวลา ซึ่งสอนให้ผมได้รับผลจากการไม่รักษาวินัยและเวลา และเห็นคุณค่าของ “ความผิดหวัง” บทเรียนนี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันทำให้ผมกลายเป็นนักวางแผนและนักบริหารเวลาได้อย่างดีเยี่ยมในเวลาต่อมา ผมมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าลาดกระบังให้ได้และตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าต้องสอบให้ได้เรียนหลักสูตร วศ.บ. สมทบ ที่ผมพลาดไปเมื่อครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น เมื่อผมมีเวลาว่าง 1 ปีผมได้สมัครเข้าทำงานเป็นช่างเทคนิคอยู่บริษัท NS Electronic ได้เรียนรู้การทำงานของบริษัทต่างชาติ พร้อมกับการจัดสรรเวลาอ่านหนังสือทำแบบฝึกหัดเตรียมตัวสอบและยังเป็นติวเตอร์สอนเพื่อน ๆ ในที่ทำงานหลายคน ในที่สุดปีต่อมาผมก็สามารถสอบเข้าได้ วศ.บ. สมทบ เป็นรุ่นที่ 2 และได้ทำคะแนนสอบเข้าสูงอยู่หนึ่งในสิบอันดับแรกของผู้สอบเข้าทั้งหมดซึ่งสถาบันฯให้รางวัลด้วยการยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมโครงการพิเศษให้ ประหยัดเงินไปได้ปีละหลายหมื่นบาท ประสบการณ์ตรงนั้นเปิดประตูให้ผมเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัย และมีโอกาสได้ทำกิจกรรมอยู่ในชมรม ชุมนุม และสโมสรต่าง ๆ ทั้งในคณะและต่างคณะ ซึ่งเป็นรากฐานให้ผมได้ฝึกทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงานจนประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา”
ในด้านการทำงาน อาจารย์นพพร เคยทำงานในภาคเอกชนลองผิดลองถูกอยู่หลายปีในฐานะ Site Engineer ที่บริษัท วรจักรอินเตอร์ฯ เป็น Technical Manager อยู่ที่ BICC Asia Pacific Pty,Ltd., เป็น Sales Supervisor ที่บริษัท ABB ก่อนลาออกไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในช่วงเวลาสั้น ๆ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับสมัครอาจารย์ประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยระดับ 4 เขากัดฟันทิ้งรายได้เดือนละเกือบ 7 หมื่น ซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น เพื่อไปรับเงินเดือนราชการระดับ 4 ตั้งต้น 7 พันกว่าบาท เพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้รับคือ ทุนพัฒนาอาจารย์เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ เขาเล่าต่อว่า ช่วงนี้เขาก็เจอความผิดหวังที่สำคัญและสามารถแก้ปัญญาให้ผ่านไปได้
“จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เงินบาทลอยตัวจากดอลล่าร์ละ 25 บาทเป็น 56 บาท ช่วงนั้นธรรมศาสตร์เปิดคณะวิศวฯ ได้ไม่นาน ผมมองเป็นโอกาสที่จะได้เติบโตในที่ที่กำลังบุกเบิก ช่วงปี 2540 ผมได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศจากทบวงมหาวิทยาลัยแล้ว และกำลังเตรียมจัดกระเป๋าเพื่อเดินทางแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเสียก่อน จำได้ว่าได้รับจดหมายจากท่านนายกชวน หลีกภัยแจ้งว่า ขอให้นักเรียนทุนทุกคนชลอการเดินทางออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เมื่อเปิดอ่านจดหมายเสร็จถึงกับยืนช็อกอยู่พักนึง แต่ผมก็ไม่เคยท้อถอยและยังมุ่งมั่นที่จะไปศึกษาต่อให้ได้โดยเร็ว ซึ่งในที่สุดผมก็ตัดสินใจเขียนจดหมายไปขอทุนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และได้รับการตอบรับให้ไปศึกษาต่อพร้อมทุนการศึกษาที่ Royal Melbourne Institute of Technology, Australia ในปี 2541 และใช้ชีวิตศึกษาวิจัยและถือโอกาสนั้นเดินทางรอบโลกไปนำเสนอผลงานวิจัยและได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ พร้อมได้ปริญญาเอกกลับบ้านและกลับมารับใช้ชาติต่อในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ในปี 2546”
แนวทางการดำเนินชีวิตด้วยความมุ่งมั่นกับเป้าหมายและเทคนิคสร้างแรงบันดาลใจเมื่อยามผิดหวังทำให้อาจารย์นพพร มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพและหน้าที่การงานเป็นลำดับ ที่ธรรมศาสตร์เขากลับมาสอนหนังสือ ทำวิจัย และบริหารคณะในฐานะรองคณบดี หัวหน้าภาควิชาฯ และเป็นคนแรกๆ ที่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในสายสังคมศาสตร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ มธ. (2550-2556) ในขณะเดียวกันก็รับตำแหน่งกรรมการบริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน กรรมการอำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กรรมการประจำสถาบันทรัพยากรมนุษย์ กรรมการประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 30 โครงการ
ความสำเร็จของเขาไม่ได้อยู่เพียงตำแหน่งหน้าที่การงานเฉพาะในสถานที่ทำงานหลักเท่านั้น เขายังมีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ นอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย อาทิ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)
“จำไว้ว่า ปอมท. ยุคที่ผมเป็นประธานในปี 52-53 ตรงกับเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง ซึ่ง ผมต้องนำ ปอมท. ซึ่งเป็นผู้แทนฝั่งคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศรักษาสมดุลด้านจุดยืนและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม และการศึกษาในมิติต่าง ๆ ให้มากที่สุด”
ในอีกความภาคภูมิใจหนึ่งก็คือ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสภามหาวิทยาลัย (ประเทศไทย) สสม. หรือ TABG ซึ่งเป็นองค์กรที่คอยเสนอแนวทางการกำกับมหาวิทยาลัยในมิติต่าง ๆ ด้วยหลักธรรมาภิบาล ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งให้เป็นเลขาธิการสมาคมแห่งนี้ในวาระหนึ่ง
ในด้านนิติบัญญัติ อาจารย์นพพร เคยทำหน้าที่เป็นทั้ง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการทั้งฝั่งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี พ.ศ. 2548 - 2557
ในฐานะนักประดิษฐ์ เขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่นครเจนี่วา สวิซเซอร์แลนด์ และรางวัลเหรียญทองจาก เบลเยี่ยม และเกาหลีไต้
ในองค์กรวิชาชีพ เขาก็ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ตรวจสภาวิศวกร กรรมการบริหารและ Chairman for Meeting & Conference, IEEE Power and Energy Society, Thailand Chapter. ซึ่งผ่านการเป็นประธานดำเนินการจัดงาน (Organizing Chapman) ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับโลกด้านระบบผลิต ส่ง จำหน่าย ไฟฟ้า (IEEE PES GTD Grand Asia 2019) มีผู้ร่วมงานเป็นหลักหมื่นคนมาแล้ว เขาเป็น Senior Member, IEEE และได้รับรางวัล Outstanding Engineering Award จาก IEEE Power and Energy Society (PES), USA ในปี พ.ศ. 2561 และได้รับเชิญไปเป็น Keynote Speaker ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทั้งในและต่างประเทศมาแล้วประมาณ 20 รายการ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 อาจารย์นพพร เป็นวิศวกรคนแรกได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด (สอมธ.) บริหารทุนดำเนินการจำนวนกว่าสามหมื่นล้านบาท เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมผ่านอุปสรรคมามากมาย การก้าวข้ามอุปสรรคไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ผมคิดเสมอว่าอุปสรรคเป็นเรื่องที่ท้าทาย และผลลัพธ์จากการก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ คือ พลัง และแรงขับเคลื่อนของผม”