นักศึกษาคณะครุศาสตร์ คว้ารองชนะเลิศ แปลงโฉมรถเข็นอาหารริมทางสร้างสรรค์
นายอธิวัฒน์ ชุนเกศา นางสาวภัทริกา แสงพันธุ์ นางสาวยศวดี ประวัติพร นายพีรพัฒน์ ดาราพันธ์ นายโยธิน ทองหลอม สมาชิกทีมกลมกล่อม นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วยผลงาน “น้ำพริกลงกา” จากการประกวดแปลงโฉม “รถเข็นอาหารริมทางสร้างสรรค์) ในโครงการ “Thailand Stylish Street Food Makeover Festival” โดยมี ผศ.ดร.อภิสักก์ สินธุภัค เป็นที่ปรึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ลานหน้า Central World Square ยศวดี หนึ่งในสมาชิกทีม กล่าวถึงแนวความคิดในการออกแบบว่า “ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ นักท่องเที่ยวหรือคนไทยเอง หากต้องการเห็นความเป็นไทย ก็มักจะมองหาแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถแสดงถึงความรุ่งเรือง ของวัฒนธรรมไทย อย่างเช่น เกาะรัตนโกสินทร์ เพราะผู้คน สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงความงามของสิ่งเหล่านี้ได้ เนื่องจากเป็นยุคที่ช่วงเวลาที่เชื่อมต่อจากอดีตถึงปัจจุบัน จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ความเป็นรัตนโกสินทร์ เพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ อาหาร ศิลปวัฒนธรรม และการเดินทาง โดยเริ่มศึกษาลักษณะเฉพาะของอาหารไทยแต่ละชนิด พบว่า ข้าวผัดน้ำพริก เป็นอาหารที่ถูกมองว่าเชย เหมาะสำหรับคนรุ่นเก่า แต่กลับเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไขมันต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับความนิยมในการรับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพของคนไทยในยุคปัจจุบัน จึงนำข้าวผัดน้ำพริก มาใช้เป็นโจทย์ในการพลิกโฉมรถเข็นอาหารริมทางสร้างสรรค์ จากนั้นสร้างแบรนด์เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ ใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค สร้างความรู้สึกใหม่ต่อน้ำพริก โดยเชื่อมโยงการกินอาหารรสชาติเผ็ดร้อน ที่อร่อยจนต้องร้อง ซี้ดดดดดด เข้ากับลักษณะการแยกเขี้ยวของยักษ์ทศกัณฐ์ แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทยในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของ น้ำพริกลงกา รถลากเป็นพาหนะของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง เกิดจากการหลอมรวมวัฒนธรรมของชาวไทยและชาวจีน แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างทางวัฒนธรรม จึงนำมาใช้เป็นแรงบันดาลในในการออกแบบรูปทรงของรถเข็นอาหาร เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผสมผสานกับเทคนิคการใช้วัสดุ ออกมาในลักษณะร่วมสมัย แต่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทยแบบเท่ๆ เอาไว้ได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยโครงการ แชะ ชิม แชร์ โดยได้มีการออกแบบมุมสำหรับถ่ายรูปกับรถเข็นอาหาร เมื่อชิมแล้วถูกใจในรสชาติก็สามารถแบ่งปันข้อมูลลงในสังคมออนไลน์ได้" 102/ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์