สจล. ผนึก NICT ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้ง สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ

ครั้งแรก! สจล. ผนึก NICT ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้ง “สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ” ณ สจล.ชุมพร

หนุน “ระบบนำทาง GPS –GNSS” เพื่ออุตสาหกรรมการบิน การระบุตำแหน่งแม่นยำสูง

พร้อมแจ้งเหตุผิดปกติก่อนใคร!

  • สจล. ชี้ “พลาสมาบับเบิล-ความผิดปกติชั้นบรรยากาศ” หนักข้อ! เสี่ยงกระทบต่อการลดคุณภาพระบบ GPS/GNSS

                สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่นเตรียมจัดสร้าง “สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ” แห่งแรกของไทย ณ สจล. วิทยาเขตชุมพรฯ รุกตรวจจับพลาสมาบับเบิลและสภาพอวกาศที่ผิดปกติ พร้อมแจ้งเหตุถึงสถานีทั่วโลก-เครื่องรับสัญญาณ GNSS ก่อนใคร! ด้วยโลเคชั่นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรโลกอันดับหนึ่ง หนุนลดความเสียหายทั้งในชีวิต ทรัพย์สินและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เครื่องบินแลนด์ดิ้งผิดตำแหน่ง อากาศยานไร้คนขับเคลื่อนที่ผิดเส้นทาง ฯลฯ
โดยชุมพรเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกในการติดตั้งเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ เนื่องจากพื้นที่กว้างพร้อมอุปกรณ์ครบครัน มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก และมีเครื่องข่ายสถานีสังเกตการณ์สภาพอวกาศที่ลองติจูดเดียวกัน โดย สจล. มีแผนจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้าน GNSS และสภาพอวกาศในปี 2020

            รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนรองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากความแปรปรวนของสภาพอวกาศ เช่น พลาสมาบับเบิล และความผิดปกติอื่นๆ ภายในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ บริเวณเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก กำลังทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งนี้ส่งผลโดยตรงในการลดประสิทธิภาพของเครื่องรับ GNSS บนเครื่องบิน ระบบนำทาง และอากาศยานไร้คนขับ นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเปนจำนวนมาก อาทิ ในกรณีทที่เครื่องบินลงจอด (Landing) ผิดตำแหน่ง อากาศยานไร้คนขับเคลื่อนที่ผิดเส้นทาง เป็นต้น

                “โดยที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก ต่างตระหนักถึงผลกระทบ พร้อมทั้งเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการติดตั้งสถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการมอนิเตอร์ การแจ้งเตือนผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องโดยทันที และถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเชื่อมโยงงานวิจัย สู่การใช้งานของบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานในอนาคต ที่ สจล. และ NICT ประเทศญี่ปุ่น ตั้งใจให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้ การติดตั้งสถานีเรดาห์ดังกล่าว จำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกให้ได้มากที่สุด”

                ทั้งนี้ “ประเทศไทย” จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการติดตั้ง สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ” ในย่านความถี่สูงมาก เป็นครั้งแรก ณ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานระดับโลกอย่าง  “สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น” และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อตรวจจับโครงสร้างโดยรายละเอียดของพลาสมาบับเบิลและสภาพอวกาศที่ผิดปกติ พร้อมแจ้งเตือนไปยังสถานีต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเครื่องรับสัญญาณGNSS ที่ใช้งานในขณะนั้นได้ทราบล่วงหน้า ตลอดจนลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในชีวิต ทรัพย์สินจากความผิดพลาดในการระบุตำแหน่ง GPS และการสื่อสารดาวเทียม นอกจากนี้ ยังเป็นการศึกษาคุณลักษณะของพลาสมาบับเบิล เพื่อนำไปพัฒนาเป็น นวัตกรรมแจ้งเตือนภัยพิบัติแก่ผู้ใช้งานเช่น เครื่องบิน เรือรถยนต์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้การนำร่อง
ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

            ผศ.ดร.วัฒนชัย พงษ์นาครอง อธิการบดีกำกับวิทยาเขตชุมพรฯ กล่าวต่อว่า สถานีเรดาร์ฯ ดังกล่าวจะมีศักยภาพในการตรวจจับพลาสมาบับเบิลและสภาพอวกาศที่ผิดปกติ ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก ไปจรดตอนใต้ของเวียดนามด้านตะวันออก ซึ่งโดยปกติแล้วพลาสมาบับเบิล จะเกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกและเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก ขณะเดียวกันจะขยายตัวสู่ละติดจูดที่สูงขึ้น ทั้งทางซีกโลกเหนือด้านบนและซีกโลกใต้ด้านล่าง เมื่อตรวจพบแล้ว สถานีเรดาห์สามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ GNSS ได้ทันที เนื่องจากเรดาห์จะถูกติดตั้งในพื้นที่กว่า 7 ไร่ของ สจล. วิทยาเขตชุมพรฯ ซึ่งเหมาะสมและมีตำแหน่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกมากที่สุด โดยเฉพาะในเอเชีย

                ดังนั้น ­จึงทำให้สถานีเรดาห์ฯแห่งนี้ เป็นสถานีที่สามารถมอนิเตอร์และแจ้งเตือนนานาประเทศก่อนใครจึงนับเป็นการบันทึกอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของไทย กับการเป็น “สถานีเรดาห์ตรวจจับสภาพอวกาศ” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบภัยพิบัติทางอวกาศที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต ที่เทคโนโลยีการขับขี่แบบอัตโนมัติด้วย GNSS จะกลายเป็นที่นิยม อย่างไรก็ดี ในอนาคตเมื่อดำเนินการติดตั้งสถานีเรดาห์ฯ เป็นที่เรียบร้อยภายในต้นปี 2563 ทีมวิจัยคาดจะมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านอวกาศตีพิมพ์และเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในอนาคต ทีมวิจัยยังเตรียมตกแต่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอวกาศมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งมีการจัดอบรมให้ความรู้ การจัดประชุมวิชาการเผยแพร่ความรู้และนวัตกรรมแก่เยาวชน รวมถึงคณาจารย์ และนักวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                ด้าน ดร.คะซุมะ สะทะอิระ ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้าประยุกต์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่นกล่าวเสริมว่า “พลาสมาบับเบิล” ถือเป็นความแปรปรวนชนิดหนึ่งในชั้นบรรยากาศ ที่ส่งผลกระทบให้สัญญาณดาวเทียมที่ต้องส่งผ่านพลาสมาบับเบิลถูกลดทอนคุณภาพ และในกรณีเลวร้ายที่สุด จะไม่สามารถใช้งาน GPS ได้เป็นเวลานาน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่จำกัดเฉพาะในแถบเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกอย่าง “ประเทศไทย” เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงเขตละติจูดกลางอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” อีกด้วย โดยในสังคมสมัยใหม่ การนำทางด้วย GPS เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้ ดังนั้น การติดตั้งเรดาห์ดังกล่าว จะทำให้สามารถตรวจจับพลาสมาบับเบิลได้เป็นประจำ ซึ่งส่งผลดีต่อความสำเร็จในการใช้ระบบนำร่องหรือนำทางด้วย GPS โดยไม่มีข้อผิดพลาด หรือลดความผิดพลาดน้อยที่สุด

            NICT เป็นองค์กรระดับชาติแห่งเดียวในญี่ปุ่น ที่ทำการวิจัยพัฒนาและสงเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT อย่างเต็มรูปแบบ งานวิจัยและพัฒนาของเรานั้น ครอบคลุมเทคโนโลยีในหลายด้าน อาทิ การตรวจจับระยะไกลโดยใช้สัญญาณวิทยุ (Remote Sensing) เครือข่ายการสื่อสารทั้งแบบมีสายและไร้สาย เทคโนโลยีการแปลคำพูดและความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศสภาพอวกาศ (Space Weather) ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่เรามีความเชี่ยวชาญดวยประสบการณ์กว่า 70 ปี ดร.คะซุมะสะ กล่าวสรุป

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 7845