สจล. - จุฬาฯ - ซีเอ็มเคแอล ผนึกกำลัง เตรียมเปิด ป.ตรี
ด้านวิศวสจล. - จุฬาฯ - ซีเอ็มเคแอล ผนึกกำลัง เตรียมเปิด ป.ตรีะฯ และเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกันครั้งแรกของไทย คาดรับรุ่นแรกสิงหาคม 2561
เปิดมิติใหม่วงการอุดมศึกษาไทย 3 สถาบันชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนาม MOU จัดตั้ง 2 หลักสูตร ยกศักยภาพและขีดความสามารถบัณฑิตไทย ตอบโจทย์วาระแห่งชาติ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) ผนึกกำลังเปิดมิติใหม่วงการอุดมศึกษาไทย จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ สร้างหลักสูตรปริญญาตรีด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรสองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) และหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพด้านการศึกษาและศักยภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ สอดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้จำนวนมาก เชื่อมั่นช่วยผลิตบัณฑิตตอบสนองวาระแห่งชาติและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทัดเทียมนานาชาติอีกด้วย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งอัพเกรดองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศยังต้องการบุคลากร ในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาในยุคนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการสร้างหลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และทั้งสองสถาบันยังร่วมกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก นอกจากนี้จะยังมีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุนวิชาการ และนักศึกษา โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน ซึ่งแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญและจุดเด่นต่างกัน ในทางปฏิบัติจึงเป็นการช่วยเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการ แก่ สังคม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อีกด้วย
โดยหลังจากพิธีการลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสามสถาบัน เรียกว่า “คณะกรรมการโครงการความร่วมมือสามฝ่าย” เพื่อดำเนินการจัดตั้งหลักสูตรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จ และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ จะหมุนเวียนเรียนทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเน้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ไม่เฉพาะในด้านการทำงานซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์จะเข้ามาแทนแรงงานคนเราในหลาย ๆ วิชาชีพเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวันเมื่อจบการศึกษาจะได้ปริญญาบัตรจากทั้งสองสถาบันการศึกษา ถือเป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากผ่านการเรียนรู้จาก สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับต้นของประเทศ
ขณะที่ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวเสริมว่า ด้วยจุดเด่นของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล อันเป็นสถาบันที่ดำเนินการภายใต้การจัดการการศึกษาร่วม ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก ทำให้หลักสูตร ปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical &Computer Engineering: ECE) สามารถผลิตบัณฑิตได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านหุ่นยนต์สมองกล วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงาน และเทคโนโลยีสุขภาพ ด้วยองค์ความรู้เหล่านี้จะทำให้บัณฑิตที่ศึกษาและจบหลักสูตรนี้ เป็นบุคลากรสำคัญที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศด้วย
ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล จัดขึ้น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.thหรือหน่วยสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โทรศัพท์ 02-218-6337) หรือคลิกเข้าไปที่ www.eng.chula.ac.th