กู้ภัยอย่างปลอดภัย! สจล. เปิดตัวแอป “iAmbulance”

กู้ภัยอย่างปลอดภัย! สจล. เปิดตัวแอป "iAmbulance" พร้อมนวัตกรรมไฟจราจรอัจฉริยะ

และนวัตกรรมรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ เตรียมนำร่องใช้กลุ่มรถฉุกเฉิน-กู้ภัย

ตั้งเป้าลดตัวเลขสูญเสียผู้ป่วย นักปฏิบัติงาน และการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัว 2 นวัตกรรม ดีกรีรางวัลประกวดนวัตกรรมระดับโลก ยกระดับความปลอดภัยการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ป้องกันการสูญเสีย อันอาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน และนักปฏิบัติงานทางการแพทย์ ได้แก่ 1) ระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มาพร้อม "iAmbulance" แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อใช้ระบุตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมฟังก์ชันการแจ้งเตือนขอทาง ตลอดจนฟังก์ชันแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และ 2) ระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ ด้วย"Road Surface" แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลสภาพหลุมบ่อบนท้องถนน ด้วยเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นไหวในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน พร้อมฟังก์ชันรายงานสภาพพื้นผิวถนนแบบเรียลไทม์ แก้ปัญหาทัศนวิสัยที่บดบังพื้นผิวจราจร น้ำท่วมขังหลุมบ่อบนถนน  พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ต่อยอดสู่ “บิ๊กเดต้า” เพื่อเป็นข้อมูลชุดใหม่ของระบบการคมนาคมประเทศ ช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับมหภาค สู่การเป็น “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้”  โดยงานวิจัยที่พัฒนาขึ้น ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเริ่มต้นจาก โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 กลุ่มเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีการขับเคลื่อนโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ทั้งจากอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยโรคฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และทันท่วงที อาจทำให้เกิดการพิการ และสูญเสียต่อชีวิตของผู้ประสบเหตุได้ ดังนั้นสถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องได้รับบริการที่เหมาะสม เพื่อจะได้สามารถป้องกันการสูญเสีย อันอาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน

 

สถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่า มีประชากรที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 3 แสนคนต่อปี อันเกิดมาจากปัญหาของการจราจรที่ติดขัด ความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอดจนสภาพถนน ที่มีผลกระทบต่อการให้การขนย้ายผู้ป่วย และการให้การรักษาก่อนถึงโรงพยาบาล นอกจากนี้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการสูญเสียบุคลากร และนักปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่ามีจำนวนนักปฏิบัติงานสูงถึง 4,315 ชีวิต ที่ได้รับบาดเจ็บ 21 ชีวิต ที่เสียชีวิต และ 12 ชีวิต ที่พิการถาวร จากการที่รถพยาบาลต้องขับรถเร็วและฝ่าไฟแดง เพื่อสู้วิกฤตินาทีชีวิตสำหรับผู้ป่วย”

 

จากเหตุปัจจัยดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้พัฒนานวัตกรรมดีกรีรางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ซึ่งจะช่วยยกระดับการคมนาคม โดยเริ่มต้นนำร่องในระบบการให้บริการสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน ด้วยระบบไฟจราจรอัจฉริยะ และระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนน เพื่อช่วยให้การขนส่งผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง รวดเร็ว บูรณาการต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์เพื่อตอบสนองต่อการแพทย์ฉุกเฉิน ลดอุบัติเหตุของรถฉุกเฉิน และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในการสัญจรบนท้องถนน ยิ่งไปกว่านั้น สจล. ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ต่อยอดสู่ระบบการคมนาคมในระดับประเทศ สู่การเป็น “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ทีมพัฒนาร่วม “iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พัฒนาระบบจัดการไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และอุบัติเหตุจากการที่รถพยาบาลฉุกเฉินต้องวิ่งฝ่าไฟแดง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิต ทั้งของผู้ป่วย และนักปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติงานที่พร้อมใช้งานสูงสุด ได้แก่

  • "iAmbulance" แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำงานด้วยระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS : Global Positioning System) โดยทำการเทียบตำแหน่งระหว่างรถพยาบาลฉุกเฉินกับรถยนต์คันอื่นๆ ส่งข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะทำการประเมินผลว่า รถฉุกเฉินอยู่ตรงไหน และวัดหาปริมาณรถใกล้เคียง แล้วส่งสัญญาณภาพ หรือสัญญาเสียง พร้อมทั้งสามารถส่งคำร้องขอทางให้หลบซ้ายหรือขวา ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่รายอื่นบนท้องถนน ในเส้นทางที่รถพยาบาลคันดังกล่าวจะต้องเคลื่อนที่ผ่าน โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะถูกติดตั้งเข้ากับรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ควบคุมรถสามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้โดยตรง และเพื่อเป็นตัวสัญญาณระบุตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนได้ เพื่อใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ ผ่านฟังก์ชัน SOS และเพื่อใช้รับสัญญาณจากรถพยาบาลฉุกเฉินที่จะต้องขับผ่านเส้นทางที่ตนเองอยู่ได้อีกด้วย

“ค่าเฉลี่ยวินาทีชีวิตของผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องได้รับการขนย้ายจากจุดเกิดเหตุ ไปยังสถานพยาบาลอยู่ที่ 8 นาที แต่ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยเวลาการให้บริการดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 14 นาที จากข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพบว่า มีเพียง 19 จังหวัดทั่วประเทศ หรือเพียงร้อยละ 24.68 เท่านั้น ที่ให้บริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านเกณฑ์ภายใน 8 นาที ซึ่งงานวิจัยพบว่า ทุกๆ นาทีที่ล่าช้า จะทำให้อัตราการสูญเสียร่างกายจนถึงชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าร้อยละ 7 - 10”

นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยงกับ “ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติที่แยกไฟแดง” ที่จะสามารถเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้ เมื่อมีรถพยาบาลฉุกเฉินที่ขนย้ายผู้ป่วยภาวะเร่งด่วนเคลื่อนที่เข้าใกล้เสาไฟจราจร ผ่านระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และ “ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรแบบกึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งจะติดตั้งอยู่ที่ป้อมตำรวจบริเวณแยก เพื่อใช้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนแก่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟแก่รถพยาบาลฉุกเฉิน แก้ไขความล่าช้า ลดปัญหาสภาพการจราจร ที่สัญญาณไฟจราจรไม่เอื้ออำนวยต่อเส้นทางการเดินรถ โดยทีมวิจัย มีแผนต่อยอดนวัตกรรมเพื่อทำโครงการนำร่องการใช้งานระบบไฟจราจรอัจฉริยะในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มต้นนำร่องทำในพื้นที่เขตลาดกระบัง เพื่อเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิ และโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลสิรินธร และมีแผนดำเนินการที่จะขยายพื้นที่ให้บริการไฟจราจรอัจฉริยะไปยังพื้นที่อื่นๆ ในลำดับต่อไป เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการขนย้ายผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของรถฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนแยกไฟจราจรมากกว่า 456 แยก ดังนั้นระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นมา จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรที่คับคั่งต่อไปได้ ดร.วิบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้พัฒนาออกแบบ ระบบรายงานพื้นผิวถนนอัจฉริยะ ผ่านแอปพลิเคชัน “Road Surface” โดยเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือน ตำแหน่งของหลุมบ่อของถนน ผ่านแอคเซเลอโรมิเตอร์ (Accelerometer) หรือเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นไหวในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และรวบรวมผลความถี่การเกิดข้อมูลดังกล่าว เพื่อประมวลผลแจ้งกลับไปยังแอปพลิเคชัน เพื่อใช้เตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า เกี่ยวกับตำแหน่งพื้นผิวถนนที่มีปัญหาแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจเกิดจากทัศนวิสัยที่บดบังพื้นผิวจราจร น้ำท่วมขังบนถนน ตลอดจนใช้ประกอบการวางแผนการเดินทาง

ซึ่งการแสดงผลแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หลุมบ่อระดับเบา (สีเขียว) หลุมบ่อระดับปานกลาง (สีส้ม) หลุมบ่อระดับร้ายแรง (สีแดง) โดยแทนระดับการสั่นไหวด้วยข้อมูลตัวเลข เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องคำนึงอันตราย และแรงกระแทกบนท้องถนน อาทิ สภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ หลุมบ่อ และทางหลังเต่า เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดผลกระทบแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการขนย้ายแล้ว ในอนาคตยังสามารถต่อยอดข้อมูลดังกล่าวเป็น  "Big Data" ในการวางแผนการบำรุงรักษาถนนของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้คนที่สัญจรบนท้องถนน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป

 

“ทีมวิจัยได้ดำเนินการเตรียมระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันดังกล่าว ให้มีความพร้อมสำหรับเปิดให้หน่วยงานรัฐใช้งานข้อมูลเรื่องหลุมบ่อ เพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมพื้นผิวถนน โดยแอปพลิเคชัน Road Surface สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วผ่าน Google Play โดยในอนาคต เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น จะทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำของข้อมูลสูงสุด ทางทีมวิจัยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการช่วยกันเก็บข้อมูลสภาพพื้นผิวถนนระหว่างการขับขี่ เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคต”

 

ข่าวจาก : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

จำนวนเข้าชม : 18986