สจล. เปิดทัพนวัตกรรมงานวิจัยเพื่อสังคม รับ ครม.สัญจรภาคใต้
สจล. เปิดทัพนวัตกรรมงานวิจัยเพื่อสังคม รับ ครม.สัญจรภาคใต้
ตอกย้ำความสำเร็จผลิตภาคการศึกษาเพื่อพัฒนาภาคชุมชนพร้อมตั้งเป้าวิทยาเขตชุมพรฯ
เป็นสถาบันด้านการเกษตร เทคโนโลยี อาหารและพลังงานอันดับ 1 ของภาคใต้ 2564
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ สจล.ชุมพร ชมความสำเร็จของงานวิจัยและธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 บริหาร
จัดการด้วยนวัตกรรม พร้อมปล่อยลูกปู 10 ล้านตัว คืนความสมบูรณ์สู่ทะเล
ชุมพร 21 สิงหาคม 2561 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรภาคใต้ จังหวัดชุมพร โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าและความสำเร็จของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย CMKL รวมถึงความก้าวหน้าด้านงานวิจัยและนวัตกรรม อาทิ สมาร์ทฟาร์มที่สมบูรณ์แบบที่ผสานการบริหารจัดการ และประยุกต์นวัตกรรมความแม่นยำสูงแบบครบวงจร นวัตกรรมดำน้ำลึกและความปลอดภัยทางทะเล โดรนสำหรับการเกษตร ฟาร์มเลี้ยงแพะเนื้ออัจฉริยะ ศูนย์สมาร์ทดาต้าเซ็นเตอร์ และ ธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำและอาหารอนุบาลลูกปูม้าอัตโนมัติ พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าคืนสู่ทะเลกว่า 10 ล้านตัว ตลอดจนกิจกรรมเพื่อชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประเทศทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนเตรียมความพร้อมประเทศ สู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต ทั้งนี้ สจล. ชุมพร มีนโยบายในการพัฒนาสถาบันสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ของภาคใต้ โดยมุ่งวิจัยตามกรอบพัฒนา 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านเทคโนโลยี ด้านอาหาร และด้านพลังงาน ในปี 2564 ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า สจล.ชุมพร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรภาคใต้ จังหวัดชุมพร โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรี และผู้ติดตาม ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เนื่องด้วย สจล. ชุมพร มีศักยภาพ และความพร้อมสูง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ภาคใต้ ที่เชื่อมต่อหลายจังหวัด โดยในโอกาสนี้ สจล.ชุมพร ได้นำเสนอโครงการ และนวัตกรรมต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการพัฒนา และขยายผลงานวิจัยด้านการเกษตร อาหาร และพลังงานทางเลือก ตลอดจนกิจกรรมทางสังคม และความร่วมมือ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนร่วมกันทั้งชุมชน อาทิ
*สมาร์ทฟาร์มครบวงจร ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ : พื้นที่เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm ในพื้นที่วิทยาเขต และศูนย์เกษตร อาหาร และพลังงาน ที่เป็นรูปธรรมที่สุด มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านการออกแบบการบริหารจัดการ และประยุกต์นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบครบวงจร ผ่านระบบเครือข่ายฐานข้อมูลที่วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลพืช เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
*ธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 : ความสำเร็จการขยายพันธ์ และอนุรักษ์ปูม้า สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ โดยสจล.ชุมพร ภาคเอกชน เทศบาลตำบลชุมโค และกลุ่มประมงชายฝั่งอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ใช้องค์ความรู้ด้านการประมง ร่วมกับเทคโนโลยี และนวัตกรรม
ทั้งนี้ โครงการเหล่านี้ เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จของ สจล.ชุมพร ในการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางงานวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่สอดรับกับภูมิศาสตร์ของภาคใต้ โดยทางสถาบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางรากฐาน ในการพัฒนา ให้มีความพร้อม สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในอนาคต พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ประจำภาคใต้ ที่มุ่งวิจัยตามกรอบพัฒนา 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเกษตร ด้านอาหาร และด้านพลังงาน ในปี 2564 ต่อไป