สังคมไม่ควรเพิกเฉย กับเรื่องเด็กฆ่าตัวตาย
สังคมไม่ควรเพิกเฉย กับเรื่องเด็กฆ่าตัวตาย”
เพราะเหตุการณ์ลักษณะแบบนนี้ มีวิธีแก้ไข
“สังคมไม่ควรเพิกเฉย กับเรื่องเด็กฆ่าตัวตาย” มีทางแก้ไข?
ข่าวสุดสะเทือนใจ เมื่อนศ.วิศวะยิงตัวตายวันนี้ พี่เอ้ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดกับครอบครัวของน้อง และมหาวิทยาลัยด้วยครับ
เรื่องนี้ขอสังคมอย่าเพิ่งโทษใคร เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ต้องไม่เพิกเฉยอีกต่อไป!
ปีที่ผ่านมามีข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยฆ่าตัวตายมากกว่าเดิม อย่างน่าตกใจ สะท้อนสภาพความเครียดของเด็กวัยเรียน ที่ทวีความรุนแรงกว่าในอดีต อาจด้วยเหตุผลนานาประการ ยากที่จะอธิบายได้หมด อาจทั้งจากความกดดัน ทั้งจากสิ่งแวดล้อม จากสุขภาพ หรือจากสื่อโซเชียล เป็นไปได้ทั้งสิ้น
ต้องยอมรับก่อนว่า “ความเครียด” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
เมื่อครั้งพี่เอ้เรียนปริญญาเอกที่ MIT อเมริกา มีเด็ก MIT ฆ่าตัวตายหลายคน บางคนกระโดดตึก บางคนเผาตัวเอง น่ากลัวมาก กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเด็กฆ่าตัวตายสูงที่สุด!!
โศกนาฏกรรมลักษณะนี้ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำบ่อยครั้ง จนมหาวิทยาลัยต้องหาวิธีป้องกันทุกวิถึทาง แต่ไม่ง่าย
เช่น MIT ห้ามเด็กขึ้นดาดฟ้าตึก ล๊อคปิดตาย แต่เด็กก็ทุบกระจกชั้นบน แล้วพุ่งตัวลงมาเสียชีวิต วันนั้น พี่เอ้นั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดติดกับที่เกิดเหตุพอดี ขนลุก!
แต่สิ่งที่ MIT และมหาวิทยาลัยในอเมริกาพยายามทำคือ การทำระบบที่ปรึกษาทางจิตวิทยา Counseling ที่มีทั้งนักจิตวิทยาวัยรุ่น ทั้งจิตแพทย์ ประจำมหาวิทยาลัย ให้เด็กทุกคน เข้าถึงได้ฟรี !
พี่เอ้ตอนจะจบ ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ถึง 2 เล่มพร้อมกัน เพื่อจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรม และปริญญาโทนโยบายเทคโนโลยี ที่เรียนไปพร้อมกัน (หาเรื่องใส่ตัว)
ทั้งเร่ง ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด จนปวดท้องน้อย จนถ่ายเป็นเลือด (จริงๆ)!!
Professor Herbert Einstein (หลานของ Einstein นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่) อาจารย์ที่ปรึกษาพี่เอ้ มองเห็น และสั่งว่า
“หยุดเดี๋ยวนี้!! แล้วไปหา Counselor จิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยซะ!!” และยังบอกว่า ในสังคม (เอเชีย) ของเธอ มันอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย แต่ที่นี่ (อเมริกา) เราไปหาจิตแพทย์กันเป็นปกติ แทบทุกคน
พี่เอ้เลยต้องไปหาทีปรึกษาจิตแพทย์ ปรากฎว่า รู้สึกดีขึ้นทันทีครับ คุยสนุก รับฟังเรา เราได้ระบาย และได้ความรู้ว่า ความเครียดก็เป็นพันธุกรรมได้ จึงรู้เท่าทันความเครียด ตั้งแต่วันนั้น กลับมาทำงานต่อจนจบอย่างมีความสุข
ขณะที่ ประเทศไทยมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาเด็กเครียดในวัยเรียน คือ
1. การไม่ค่อยยอมรับในการพาลูกไปพบจิตแพทย์ หรือ ที่ปรึกษาจิตวิทยา
2. โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ยังไม่มีระบบการดูแลด้านจิตวิทยาเด็กอย่างจริงจัง
3. ภาวะการขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาวัยรุ่น หายากมากสุดๆ
4. ขาดงบประมาณในการพัฒนาระบบจิตวิทยาในสถาบันการศึกษาไทย
แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ แก้ไขได้ครับ หากเริ่มเอาจริง กับปัญหานี้
พี่เอ้ไม่อยากเห็นเรื่องสุดแสนสะเทือนใจ เกิดขึ้นซ้ำซาก ในสังคมไทยครับ ช่วยกันดูแลลูกหลานเรานะครับ อย่าให้เกิดการสูญเสียอีกเลย
https://www.facebook.com/suchatvee.ae/posts/590830791408769?sfnsw=cl