นศ.ไอทีลาดกระบังคว้าชนะเลิศอันดับ 2 และชมเชย NSC 2021

 

          นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ  คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัลชมเชย จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 National Software Contest (NSC 2021) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีนักเรียน นิสิตและนักศึกษาจากทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

สำหรับงานในปีนี้ ทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน โดยคว้ามาได้ 2 รางวัลคือ

 

รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2

ในหัวข้อการแข่งขัน : หัวข้อพิเศษ หมวดที่ 32 โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) กับผลงานที่มีว่า “เว็บเเอปพลิเคชันแสดงสถานที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลสื่อออนไลน์” เว็บแอปพลิเคชันที่สามารถแสดงผลของบริเวณในการเกิดอุบัติเหตุ โดยการวิเคราะห์ผ่านข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างทันท่วงที จากการใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องจากการสร้างโมเดลจำแนกหมวดหมู่ข้อความ (Text  Classification) เพื่อสกัดหาข้อความประเภทอุบัติเหตุจากข้อความทั้งหมด และโมเดลการสกัดคำนามชื่อเฉพาะ  (Named Entity Recognitions : NER) ของคำชื่อเฉพาะสถานที่หรือชื่อองค์กรจากข้อความของประเภทอุบัติเหตุ เพื่อทำการแสดงผลบนแผนที่ภายในเว็บแอปพลิเคชัน ให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามเส้นทางการจราจรที่พบอุบัติเหตุและสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ เพิ่มความสะดวกแก่การเดินทางของผู้เดินทางบนท้องถนน

สำหรับเจ้าของผลงานชิ้นนี้คือ นายทิพย สุพจน์ และ นางสาวพัชรีพร นาคเกิด นักศึกษาปริญญาตรีคณะไอทีลาดกระบัง สาขาวิชา Data Science and Business Analytics โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ฐานะโสภณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

 

รางวัลชมเชย

หัวข้อการแข่งขัน : ระดับนิสิต นักศึกษา หมวด 12 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ กับผลงานที่มีชื่อว่า “ระบบตรวจสอบเชิงโครงสร้างและสร้างมโนภาพการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (J: Learn)” เว็บแอพลิเคชันซึ่ง เกิดจากนำระบบสำหรับตรวจสอบโค้ดโปรแกรมภาษาจาวา (Java) พร้อมทั้งให้คำแนะนำอัตโนมัติในกรณีที่เกิด ข้อผิดพลาด และระบบการแสดงผลเชิงโครงสร้างของโปรแกรมในรูปแบบของ Class Diagram มารวมกันให้อยู่ใน ลักษณะของ Learning Management System (LMS) เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้งานฟังก์ชันต่างๆได้สะดวกครบ ครันมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับนักศึกษาหรือผู้ที่กำลังศึกษาการพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาจาวาด้วยหลักการเขียน โปรแกรมเชิงวัตถุ

สำหรับวิธีการใช้งาน ผู้ใช้สามารถทำการ Login เข้าสู่ระบบด้วย Username และ Password ที่ได้ทำการ ลงทะเบียนไว้ระบบจะทำการแสดงคอร์สเรียนที่ผู้ใช้ได้ทำการ Enroll พร้อมทั้ง บทเรียนและแบบฝึกหัด ให้ได้ทดลอง เรียนรู้ ทำแบบทดสอบ และวัดผล ในกรณีที่ผู้ใช้ถูกลงทะเบียนไว้ในบทบาท ผู้สอน ระบบจะเปิดให้สามารถ สร้างคอร์ส เรียน บทเรียนรวมถึงแบบทดสอบ ได้อีกด้วย

สำหรับเจ้าของผลงานชิ้นนี้คือ นายชญานิน ลำยอง และ นายณัฐวุฒิ เตชะศรีบูรพา นักศึกษาปริญญาตรีคณะไอทีลาดกระบัง สาขาวิชา Information Technology โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธราวิเชษฐ์ ธิติจรูญโรจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 4056